วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


ประวัติ น้ำตกทีลอซู
ทีลอซู ได้รับการค้นพบโดยพรานชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาล่าสัตว์ ก่อนที่ ตชด.ได้บินเข้ามาสำรวจในพื้นที่และได้พบน้ำตกทีลอชู ต่อมากรมป่าไม้จะประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ อ. ปรีชา อินทวงศ์ พาบุคลากรของนิตยสารท่องเที่ยวแคมปิง เข้าไปสำรวจ น้ำตกทีลอซู ก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่ท้าทายของนักเดินทาง "ทีลอซู" หรือออกเสียงตามภาษาภาษาปะก่าหญอว่า "ที-หล่อ-ชู" ที แปลว่า น้ำ, หล่อ แปลว่า ไหล และ ชู แปลว่า ทิ้มแทง (หล่อ-ชู เป็น กิริยา หมายถึง การไหลลงมาอย่างแรงของน้ำปะทะกับพื้นเบื้องล่าง) ดังนั้นจึงแปลว่าน้ำตก (บางท่านบอกว่าแปลว่า น้ำตกดำ คำว่า "ดำ" ไม่ได้ออกเสียงว่า ซู แต่ออกเสียงคล้ายๆกัน ไม่รู้จะเขียนเป็นอักษรไทยอย่างไร เพราะเสียงนี้ไม่ในภาษาไทย ต้องออกเสียงให้ฟังนะครับ ถึงจะแยกความแตกต่างได้) น้ำตกนี้ซ่อนอยู่ในหลืบผาอันกว้างใหญ่ สายน้ำเกิดจากห้วยกล้อทอซึ่งมีแดนกำเนิดอยู่บนดอยผะวี แล้วไหลลงแม่น้ำแม่กลองที่ ต. แม่ละมุ้ง อ.อุ้มผาง
การค้นพบที่กล่าวถึงเป็นการพบของคนไทย จากงานของ ประชา แม่จัน ในหนังสือ "อุ้มผาง เบื้องหลังธรรมชาติ" [2] เขียนถึง บริเวณที่ตั้งแคมป์ทีลอชู เป็นบ้านเก่าชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เรียกว่า "ว่าชื่อคี" บริเวณที่จอดรถเป็นที่นาเก่าของชาวบ้านที่นี่ การที่เป็นบ้านร้างเพราะชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านโขะทะเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ชาวปกากะญอที่นี่รู้จักน้ำตกทีลอชูมาช้านานแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กม.ก่อนถึงน้ำตกจะผ่านป่าไผ่และป่าเบญจพรรณ มีดอกกระเจียวขึ้นตามพื้นป่าระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติและพืชพันธุ์ตามจุดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา เมื่อถึงบริเวณน้ำตก จะเห็นละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่วโขดหินเบื้องล่าง มองเห็นธารน้ำตกลงมาจากผาหินปูนซึ่งอยู่สูงประมาณ300ม. ตามแนวกว้างกว่า500 ม. ท่ามกลางป่าครึ้ม อาจแบ่งธารน้ำตกได้เป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มด้านซ้ายมือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาน้ำตก) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดสูงที่สุด และเป็นด้านที่สวยที่สุด มีธารน้ำตกหลายสายไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเชิง ส่วนกลุ่มตรงกลาง สายน้ำไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันใกล้เคียงกบกลุ่มซ้ายมือแต่ไม่เป็นชั้นและแคบกว่า ส่วนหลุ่มทางขวามือ มีสายน้ำตกมากและหน้าผาเตี้ยกว่าสองกลุ่มแรก เมื่อมองทั้งสามกลุ่มรวมกันจะเห็น น้ำตกทีลอซู ที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม บริเวณด้านล่างมีทางเดินไปยังจุดชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขาฝั่งตรงกันข้าม เป็นจุดที่มองเห็น น้ำตกทีลอซู ได้สวยงามและชัดเจนขึ้น ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ 2 ชม.


การเดินทาง
การเดินทาง รถยนต์ จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่สอด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 มีทางแยกซ้ายที่บ้านแม่กลองใหม่ไปด่านเดลอ หรือจุดตรวจ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง” เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขับรถเข้าน้ำตกทีลอซูต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตเข้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (สป. ๗) ได้ที่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์อุ้มผางก่อนทุกครั้ง นักท่องเที่ยวต้องยื่น สป. 7 ที่ด่านเดลอ) จากนั้นเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางช่วงนี้เป็นทางดิน ควรใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ช่วงล่างมีความสูงมากพอสมควร ในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ และจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จึงถึงตัวน้ำตกทีลอซู



แนะนำตัวเอง
ชื่อ นางสาว สุนิสา ชัยกอง รหัส 50011011005 ชื่อเล่น พิชญ์ซ่า
ปัจจุบัน กำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ชั้นปีที่3
นิสัย เข้ากับคนได้ง่าย+มองโลกในแง่ดี
งานอดิเรก อ่านหนังสือ+ดูหนังฟังเพลง
สีชอบ สีเขียวอ่อน
อาหารที่ชอบ พะแนง+ข้าวผัดทะเล
ผลไม้ที่ชอบ แอปเปิ้ล+ฝรั่ง+กล้วยหอม
เพลงที่ชอบ อากาศดีๆของเนิสเชอรี่…

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง



อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศาเซลเซียส สถานที่ที่มีผู้นิยมมาท่องเที่ยว ได้แก่ จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ได้ และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก หมอกที่เกิดที่นี่คือ หมอกที่เกิดขึ้นในหุบเขา (Radiation Fog) เนื่องจากเวลากลางคืนในหุบเขาอุณหภูมิจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ และปรากฏเป็นทะเลหมอกในเวลาเช้าหรือหลังฝนตก ใกล้ ๆ กับที่ทำการจะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีระยะทาง 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง การเดินทาง ไปยังอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายเชียงใหม่-ปาย อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทางจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ สายเชียงใหม่-ปาย อัตราค่าโดยสาร 40 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 20 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7586-7 นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกห้วยน้ำดัง โป่งน้ำร้อนท่าปาย น้ำตกแม่เย็นค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานฯมีบ้านพักบริการ รวมทั้งสถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ที่ 5 ตำบลกี๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร. 0 5326 3910, 0 5354 8491, 0 5347 1669 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.thอุทยานแห่งชาติจะทำการปิดลานกางเต็นท์ที่ 1-5 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เส้นทางเดินป่าล่องแพน้ำแม่แตง เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยช้าง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช www.dnp.go.th และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5326 3910 ตลอด 24 ชั่วโมง และ 0 5324 8491 ระหว่าง 08.00-17.00 น.

ที่มา http://thai.tourismthailand.org/attraction/chiangmai-50-146-1.html

อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์




อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอขุนยวมและอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นป่าเขา เรียงรายสลับซับซ้อน มีภูเขาหินและหน้าผาน้อยใหญ่สูงชันในลักษณะที่แตกต่างกันและคล้ายกันที่สวยงามหลายแห่ง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่สุรินทร์ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เคียงคู่กับทุ่งบัวตอง รวมทั้งลำน้ำปาย ซึ่งมีหาดทรายสวยงาม อุทยานแห่งชาติมีเนื้อที่ประมาณ 247,875 ไร่ หรือ 396.60 ตารางกิโลเมตร กรมป่าไม้ได้รับหนังสือจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ มส 09/71 ลงวันที่ 3 มกราคม 2523 แจ้งว่า จังหวัดได้รับหนังสืออำเภอขุนยวมที่ มส 0953/3338 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2522 ขอให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ เพื่ออนุรักษ์บริเวณน้ำตกแม่สุรินทร์ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามไว้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตามที่นายสกุล อนันตกุลกำเนิด เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 เสนอโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ประกอบกับ ดร. เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บินตรวจป่าพบว่าบริเวณป่าของอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะเด่นตามธรรมชาติ และมีน้ำตกสวยงามหลายแห่ง จึงให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการสำรวจ

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กส 0708/1140 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2523 เสนอกรมป่าไม้ ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียงทำการสำรวจ ซึ่งสำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียงได้มีคำสั่ง ที่ 180/2523 ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ให้ นายอุดม ธัมทะมาลา เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ทำการสำรวจ พบว่า ป่าน้ำตกแม่สุรินทร์เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำหลายสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดอยปุยมีลักษณะเป็นยอดเขาสูง มีรูปร่างคล้ายฝาชี ข้างบนยอดแบนเป็นที่ราบ อากาศหนาวจัด ทั้งมีน้ำตกสวยงาม 2 แห่ง คือ น้ำตกแม่สุรินทร์ และน้ำตกผาบ่อง เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามรายงานผลการสำรวจหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียง ที่ กส 0709(มร)/2360 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2523
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่น้ำปายฝั่งซ้ายและป่าแม่สุรินทร์ในท้องที่ตำบลปางหมู ตำบลผาบ่อง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และตำบลขุนยวม ตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 180 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 37 ของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์เป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือจดทิศใต้ ทิศตะวันออกจะเป็นภูเขาสูงชันลาดไปทางทิศตะวันตก มีภูเขาหินและหน้าผาสูงชันในลักษณะที่แตกต่างกันและคล้ายกัน มีความสูงต่ำจากระดับน้ำทะเลอยู่ในช่วง 300-1,752 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยปุย รองลงมาคือ ดอยต้นห้วยผาคอ สูง 1,601 ดอยห้วยมีสะมาด สูง 1,465 เมตร ดอยห้วยไม้คอง สูง 1,474 เมตร ดอยบ้านไมโครเวฟ สูง 1,474 เมตร ดอยปลายห้วยแม่จ๋ายำ สูง 1,407 เมตร ดอยผาคอ สูง 1,352 เมตร ดอยบ้านห้วยฮะ สูง 1,359 เมตร และดอยต้นห้วยตองจิง สูง 1,310 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเป็นต้นกำเนิดของลำธารต่างๆ หลายสาย ลำน้ำส่วนใหญ่จะไหลจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ลำธารและลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปาย ลำน้ำแม่สะมาด ห้วยปงกุน น้ำแม่สะกึด ห้วยม่อนตะแลง น้ำแม่ฮ่องสอน ห้วยโป่ง น้ำแม่สุรินทร์ ห้วยนาอ่อน ห้วยเฮี้ย ห้วยอูคอน้อย และห้วยอูคอหลวง ซึ่งลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่ แม่น้ำปายและแม่น้ำยวม
ลักษณะภูมิอากาศ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี มีอากาศเย็นสบายตลอดปี โดยเฉพาะฤดูหนาวบนยอดเขาอากาศเย็นมาก ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีฝนตกชุกมาก ทำให้การเดินทางไม่สะดวก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมตลอดปี 1,282 มิลลิเมตร ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวและฤดูร้อนเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์มีสภาพป่าที่แตกต่างกันไปหลายชนิด ประกอบด้วย ป่าดิบเขา พบขึ้นเป็นแถบยาวไปตามแนวสันเขา หรือขึ้นปกคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป ชนิดของไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อแป้น ก่อใบเหลื่อม ก่อเดือย มะก่อ ทะโล้ มะมุ่นดง ไก๋แดง กล้วยฤาษี เหมือดคนตัวผู้ ไคร้มด ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ โชนใหญ่ กูดดอย ตองกง สาบหมา ยาแก้ เอ็นอ้าดอย หนาดเขา บัวตอง เป็นต้น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ เสือดาว ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ เม่นใหญ่ บ่าง กระรอกดินแก้มแดง อ้นใหญ่ นกหกเล็กปากแดง นกคัดคูมรกต นกพญาปากกว้างหางยาว นกพญาไฟแม่สะเรียง กิ้งก่าเขาเล็ก จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง งูลายสาบคอแดง งูแม่ตะง่าว กระท่าง อึ่งกรายหนังปุ่ม กบชะง่อนหินเมืองเหนือ ปาดตีนเหลือง ปาดแคระ ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน ผีเสื้อหางมังกรขาว และผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา
ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นปกคลุมในพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่สูงมากนักตามหุบเขาของร่องห้วยต่างๆ เช่น บริเวณหุบเขาของร่องห้วยแม่สะกึด ห้วยโป่งกาน ห้วยไม้ซางหนามห้วยแม่จ๋า ห้วยน้ำแม่สุรินทร์ เป็นต้น ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 350-600 เมตร ชนิดของไม้และพืชพื้นล่างที่สำคัญได้แก่ เสลา สมอพิเภก ยมหอม มะแฟน ตะแบกเปลือกบาง มะเกลือ กระโดนสร้อย ชิงชัน เปล้าหลวง หมีเหม็น เพกา ไผ่ซางนวล ไผ่บงดำ ไผ่ป่า ว่านมหาเมฆ ขมิ้นแดง กระทือ บอนเต่า หนามคนทา สะแกเครือ หนอนตายหยาก ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ พบเป็นจำนวนมากที่ถ้ำห้วยสลอย ค้างคาวมงกุฎเล็ก กวางป่า อีเห็นข้างลาย อ้นกลาง หนูผีหางหมู ไก่ป่า นกกระทาป่าไผ่ นกตีทอง นกแซงแซวหางปลา นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง นกปรอดหัวสีเขม่า ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย งูเห่า งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกรายลายเลอะ กบหลังตาพับ กบกา กบอ่อง ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพ ผีเสื้อหนอนคูณหนวดดำ และผีเสื้อหัวแหลมกระบอง เป็นต้น
ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่มีพื้นที่ปกคลุมมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติ สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูงของน้ำทะเลประมาณ 350-1,400 เมตร ชนิดไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ พลวง เต็ง เหียง รัง สนสองใบ รักใหญ่ รกฟ้า ส้านใหญ่ ตับเต่าต้น แคทราย ครามป่า เป้งดอย หญ้าหนวดฤาษี หญ้ากาย หญ้าแขมน้อย หญ้าดอกคำ ฯลฯ สัตวป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาหงอน นกเค้าแคระ นกจาบคาหัวสีส้ม นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกเด้าดินสวน นกกาแวน กระเล็นขนปลายหูสั้น กระจ้อน กระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาวกลาง แย้ กิ้งก่าแก้ว จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ ผีเสื้อจ่าพม่า และผีเสื้อเณรธรรมดา เป็นต้น ป่าสนเขา จะอยู่ในบริเวณสันเขาสูง ชนิดไม้ที่พบ เช่น สนสองใบและสนสามใบ นอกจากนี้ยังสามารถพบกล้วยไม้อีกหลายชนิดที่สวยงาม ได้แก่ รองเท้านารี เอื้องแซะ ฟ้ามุ่ย พวงมาลัย หางกระรอก ช้างกระ เอื้องคำ เป็นต้น
ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาไหลหูดำ ที่พบค่อนข้างมากในแม่น้ำปาย ปลาหลด ปลากระทิง ปลาซิวใบไผ่ ปลาหัวตะกั่ว ปลาก้าง ปลาพลวง นกเป็ดผีเล็ก นกยางโทนน้อย และนกยางเขียว

ที่มา http://www.ezytrip.com/travel/images

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน


ข้อมูลทั่วไป
หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะกลางทะเลอันดามันที่เป็นเลิศในความงามของปะการังแห่งหนึ่งของโลก “สิมิลัน” เป็นภาษายาวีหรือมลายู แปลว่า “เก้า” ชาวประมงบางคนจึงเรียกว่า หมู่เกาะเก้า ประกอบด้วย เกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันประกอบด้วย เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง หมู่เกาะสิมิลัน เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2525 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และในปี 2541 ได้ผนวกรวมเกาะตาชัย ทำให้มีพื้นที่ทั้งหมด 140 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2524 คณะสำรวจหมู่เกาะสิมิลันซึ่งประกอบด้วย Mr. Jeferey A. Sayer ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของ FAO (ขณะนั้นช่วยงานด้านอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า กรมป่าไม้) ดร.เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญกรมป่าไม้ นายสุวัช สิงหพันธุ์ เจ้าหน้าที่กองอุทยานแห่งชาติ และคณะสำรวจของนายประพันธ์ ผลเสวก แห่งนิตยสารเพื่อนเดินทาง ได้เสนอความคิดเห็นต่อกองอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 ว่า บริเวณหมู่เกาะสิมิลันมีสภาพธรรมชาติและทิวทัศน์ทางทะเลสวยงามยิ่ง สภาพแวดล้อมบนเกาะต่างๆ สมบูรณ์ มีพรรณพืชและสัตว์ที่น่าสนใจหลายชนิด สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยหน้าผา โขดหินรูปร่างแปลกตา มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และใต้ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังหลากสีหลายชนิดและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เหมาะสมที่จะสงวนรักษาไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2524 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 เห็นสมควรให้จัดบริเวณหมู่เกาะเก้าหรือหมู่เกาะสิมิลันเป็นอุทยานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ชื่อว่า “หมู่เกาะสิมิลัน” ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสิมิลัน ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ 80,000 หรือ 128 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติภายใต้ชื่อว่า “ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 123 ลงวันที่ 1 กันยายน 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 43 ของประเทศไทย

ต่อมาได้ผนวกพื้นที่เกาะตาชัย เนื้อที่ 12 ตารางกิโลเมตรเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 65ก ลงวันที่ 25 กันยายน 2541 รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสิ้น 87,500 ไร่ หรือ 140 ตารางกิโลเมตร


ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง


ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย 3,560 มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย 1,708 มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ทางอุทยานฯ จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 14 พฤศจิกายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี


พืชพรรณและสัตว์ป่า
พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ป่าชายหาด มีลักษณะโปร่งพบพันธุ์ไม้กระจัดกระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ได้แก่ หูกวาง จิกเล สารภีทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 10 เมตร เช่น ตะบัน หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ชิงชี่ ก้างปลาทะเล เตยทะเล เป็นต้น พืชคลุมดินที่พบ เช่น พืชตระกูลถั่ว พวกถั่วผี ผักราด หญ้าที่พบตามชายหาด เช่น หญ้าหวาย หญ้าขุย ไม้ไผ่ พืชอาศัย ได้แก่ นมพิจิตร ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น
2. ป่าละเมาะ เป็นสังคมของไม้พุ่มที่เจริญเติบโตได้บนดินที่มีความลึกของชั้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร พรรณไม้ที่พบไม่หนาแน่นนัก เช่น กระบองเพชร จันทน์ผา ไม้พุ่มขนาดเล็กที่พบทั่วไป ได้แก่ พลอง นกนอน เป็นต้น
3. ป่าดงดิบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 20 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางปาย ยูง สะยา ไม้ยืนต้นขนาดรองลงมา ความสูง 15-20 เมตร ได้แก่ ขนุนนก เม่า โมกป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูง 10-15 เมตร ที่พบ เช่น กระเบา รักป่า เนียน เป็นต้น มักพบ ไผ่ป่า หวาย ปาล์ม ขึ้นปะปน ไม้เลื้อย ไม้เถาว์ที่พบ เช่น พลูฉีก เสี้ยวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และกาฝากเกาะตามกิ่งก้านไม้ขนาดใหญ่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหาพบได้ยาก ได้แก่ ละมุดป่า และงวงช้างทะเล พบเฉพาะเกาะใหญ่ในทะเลอันดามัน พืชที่กินผลหรือใบอ่อนได้ เช่น ละมุดป่า มะปริง มะหวด เนียง ผักหวาน และชิงชี่ เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โลมาหัวขวด เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าทะเลที่สำคัญได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ นอกจากนี้ยังพบพวกเหี้ย แลน กระรอก เป็นจำนวนมาก ส่วนจำพวกงู ไม่เคยพบงูที่มีพิษ งูที่พบมากได้แก่ งูเหลือม
นก ที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีดังนี้
1. นกที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก เป็นต้น
2. นกที่จัดเป็นนกอพยพ เข้ามาในประเทศไทยบางฤดูกาล เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา
3. นกประจำถิ่นและบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ เป็นต้น
ปลา ที่สำคัญที่พบเป็นพวกปลาทะเล ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงเทง ปลากระเบน ปลาบิน ปักเป้าทะเล รวมตลอดถึงปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งปะการังอีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานางฟ้า และปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
สัตว์ประเภทอื่นที่สำคัญ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ปะการัง และแมงกระพรุน ซึ่งปะการังโดยรอบหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำลึก เท่าที่สำรวจพบ ได้แก่ ปะการังใบไม้ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังรูพรุน นอกจากนี้ยังมีปะการังที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และปะการังพรุนแบบฟองน้ำอีกหลายชนิด ทั้งยังพบพวกกัลปังหาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
หมู่เกาะสิมิลัน เป็นหมู่เกาะที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารสกินไดวิ่งของอเมริกาว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงามทั้งบนบกและใต้น้ำ ซึ่งติดอันดับ ความงาม เป็น 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งมีช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ ระยะปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนเมษายน ในเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุด น้ำใส และไม่มีมรสุม
เกาะหูยง
เกาะหูยง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหนึ่ง เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในบรรดาเกาะทั้งหมด ซึ่งหาดของเกาะนี้เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลหลายชนิด หากจะไปท่องเที่ยวที่เกาะแห่งนี้ ควรติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติก่อน
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะปายัง
เกาะปายัง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสอง เป็นเกาะที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหิน รอบเกาะเป็นหน้าผา และโขดหิน ไม่มีหาดทราย
กิจกรรม -ดำน้ำตื้น - ดำน้ำลึก
เกาะปาหยัน
เกาะปาหยัน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสาม มีสภาพทั่วไปของเกาะเป็นหิน ลักษณะเป็นหน้าผา ไม่มีหาดทราย แต่เป็นแหล่งดำน้ำลึกที่นักดำน้ำลึกนิยมอีกแห่งหนึ่ง มีการขนานนามบริเวณนี้ว่า สันฉลาม บ้างก็ขนานนามว่า กำแพงเมืองจีน ซึ่งเรียกตามลักษณะกำแพงหินธรรมชาติใต้น้ำที่มีความโอฬารมาก บริเวณนี้จะพบฝูงปลาจำนวนมากที่แวะเวียนมาหากินอยู่ข้างๆ กำแพงหินธรรมชาติใต้น้ำ เช่น ฝูงปลาสาก และยังมีกัลปังหาที่มีสีสันสวยงามอีกเป็นจำนวนมาก
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะเมียง
เกาะเมียง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดพื้นที่รองจากเกาะสิมิลัน เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บนเกาะ) ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร บ้านพักนักท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เกาะนี้มีแนวหาดทราย 2 หาด สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาในการเดินประมาณ 20 นาที

หาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นหาดทราย ยาวประมาณ 400 เมตร ทรายขาวละเอียดและสวยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย น้ำทะเลสีฟ้า เหมาะสำหรับลงเล่นน้ำได้ มีปะการังกระจายอยู่เป็นกลุ่ม ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหาดมีแนวปะการังต่อเนื่องไปถึงแนวหินยาว ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดดำตื้นได้อย่างสบายๆ เพราะไม่ต้องเดินหรือว่ายน้ำจากหาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

หาดเล็ก เป็นหาดอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ สามารถเดินจากหาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตามทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร ทางเดินเท้าจะผ่านป่าดิบชื้นสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ที่สำคัญ คือ เป็นจุดชมปูไก่ ที่หาดูได้ยาก บริเวณหาดเล็ก มีทรายที่ขาวสะอาด น้ำทะเลสวยใส มีแนวปะการังขนาดเล็กกระจายเป็นหย่อมๆ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นเช่นกัน
กิจกรรม -ดำน้ำตื้น - ดำน้ำลึก - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - ส่องสัตว์ - กิจกรรมชายหาด - ชมทิวทัศน์
เกาะห้า
เป็นเกาะเล็กๆ แต่เป็นจุดดำน้ำที่น่าสนใจ และงดงาม มีเอกลักษณ์ของเกาะ คือ ปลาไหลสีขาวเทา ที่ชอบโผล่หัวชูคอขึ้นมาจากรู จนได้ชื่อว่า สวนปลาไหล บริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยปะการังอ่อน ปะการังแข็งที่มีอยู่มากมาย
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะปายู
เกาะปายู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหก มีลักษณะของเกาะเป็นภูเขาหิน เป็นหน้าผา มีชายหาดด้านตะวันออก แนวปะการังบริเวณนี้กว้างประมาณ 150-200 เมตร ด้านตะวันตกเป็นหน้าผาสูงชัน ไม่มีแนวปะการังที่ชัดเจน แต่มีกองหินและปะการังขึ้นกระจาย มีปะการังก้อนขนาดใหญ่อยู่บ้างในความลึก 20 เมตร ด้านเหนือเป็นแหลมเล็กๆ ด้านใต้เป็นแนวหิน
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะหินปูซาร์
เกาะหินปูซาร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะเจ็ด มีลักษณะเป็นหินโผล่ กว้างประมาณ 30 เมตร มีผาหิน สามารถว่ายน้ำลัดเลาะไปมา ตามหน้าผาพบปะการังอ่อน มีทัศนวิสัยในการดำน้ำลึกดีมาก สามารถมองเห็นได้กว้างไกล รอบด้านเป็นกองหินความลึกประมาณ 20-50 เมตร มีหุบเหวใต้น้ำ บริเวณนี้มีปลาหลายชนิด เช่น ปลาสลิดหินสามจุด ลูกปลานกขุนทอง และปลาฉลาม ออกจากแนวกองหินไปทางด้านใต้ มีกัลปังหาขึ้นอยู่บนลานกระจายที่ความลึก 30 เมตร ลงไปเรื่อย ๆ อาจพบเต่าทะเลและกระเบนราหู
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะสิมิลัน
เกาะสิมิลัน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะแปด เป็นเกาะที่มีพื้นที่มากที่สุด ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร และยอดสูงสุดของภูเขา 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล เกาะสิมิลันมีอ่าวเล็กๆ อยู่ทางทิศเหนือของเกาะ อ่าวนี้มีลักษณะโค้งจึงได้ชื่อว่า อ่าวเกือกม้า ใต้ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ด้วยกองหินและแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อยมากมาย สภาพหาดสวยงามสะอาดและน้ำทะเลใสมาก สามารถลงเล่นน้ำได้ เหมาะสำหรับการดำน้ำดูปลาและปะการัง

ทางด้านทิศตะวันออกของอ่าวเป็นเกาะแก่งเล็กๆ ใต้น้ำอุดมไปด้วยปะการังเขากวางและปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ ทางด้านตะวันตกของอ่าว ภายใต้ท้องทะเลเป็นโขดหินสลับกับแนวปะการังไปเป็นระยะตลอดแนวอ่าว ทางด้านทิศตะวันออกของอ่าว มีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายรองเท้าบู๊ต เต่ายักษ์ และหินใบ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเกาะ กองหินใต้น้ำซึ่งเป็นจุดดำน้ำลึกที่ขึ้นชื่อ คือ กองหินแฟนตาซี
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์ - ดำน้ำตื้น - ดำน้ำลึก - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - แค็มป์ปิ้ง
เกาะบางู
เกาะบางู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะเก้า สภาพของเกาะเป็นหิน หน้าผา ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ มีหินโผล่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งปะการังที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดำน้ำลึกว่า "คริสต์มัสพอยต์"
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะบอน
เกาะบอน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะทะลุ เป็นเกาะเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาที่ชุกชุมมาก จุดเด่นคือ สะพานหิน ที่เกิดจากหินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเป็นโพรงมองคล้ายสะพานโค้งข้ามแม่น้ำ เป็นเกาะที่นักดำน้ำสามารถทักทายกับเจ้ายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล นั่นคือ เจ้ากระเบนราหู ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบได้ง่ายกว่าแหล่งท่องเที่ยวแหล่งอื่น
กิจกรรม -ดำน้ำลึก
เกาะตาชัย
เป็นเกาะที่เพิ่งประกาศให้อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 โดยมีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในท้องที่ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี เป็นเกาะที่ยังคงรักษาสภาพธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
93 ม.5 บ้านทับละมุ ถ.เพชรเกษม ต.ลำแก่น อ. ท้ายเหมือง จ. พังงา 82210
โทรศัพท์ 0 7659 5045, 0 7642 1365 โทรสาร 0 7659 5210


การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ-จังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 788 กิโลเมตร อัตรค่าโดยสารขึ้นอยู่กับประเภทรถโดยสาร ระหว่าง 357-685 บาท จากพังงามาที่อำเภอทับละมุ ระยะทาง 65 กิโลเมตร รถยนต์โดยสารราคา 35 บาท จากนั้นต่อมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ไปยังท่าเรือทับละมุ ราคา 30 บาท (ระยะทาง 5 กิโลเมตร)

เครื่องบิน
จากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานภูเก็ต ราคา 2,300 บาท เดินทางสู่จังหวัดพังงา โดยรถโดยสารประจำทาง ถึงท่าเทียบเรือทับละมุ และจ้างเหมาเรือไปอุทยานแหงชาติหมู่เกาะ สิมิลัน

เรือ
จากท่าเรือทับละมุเดินทางไปยังเกาะเมี่ยง (เกาะสี่) ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร มีเรือโดยสารของภาคเอกชนให้บริการทุกวันตลอดฤดูกาลท่องเที่ยว เรือโดยสารทุกลำจะออกจากท่าเรือพร้อมกัน โดยขาไปออกเวลา 08.00 น. และขากลับออกเวลา 14.00 น. ของทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว (เก็บตั๋วเรือเอาไว้แสดงตอนกลับด้วย) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5 - 4 ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารขึ้นอยู่กับชนิดของเรือและการบริการดังนี้

เรือโดยสารทั่วไป อัตรา 1,500 บาทต่อคน เป็นการเดินทางไป-กลับ (กลับวันไหนก็ได้) สำหรับอัตรา 2,300 บาทต่อคน เป็นการเดินทางไป-กลับ มีอาหาร เครื่องดื่มและพาเที่ยวรอบๆ เกาะ เป็นการพาเที่ยวภายใน 1 วัน หรือจะจ้างเหมาลำก็ได้มีอัตราค่าจ้างเหมา คือ เรือขนาด 35 - 40 คน ราคาประมาณ 12,000 บาทต่อวัน เรือขนาด 50 - 60 คน ราคาประมาณ 15,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับการตกลงราคา และเมื่อเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติ จะมีเรือหางยาวให้บริการกับนักท่องเที่ยว ไปตามเกาะต่างๆ ดังนี้
เกาะสี่–เกาะหก ระยะทาง 3 กิโลเมตร อัตราค่าบริการ ราคา 150 บาทต่อคน
เกาะสี่-เกาะแปด ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร อัตราค่าบริการ ราคา 200 บาทต่อคน
เกาะสี่-เกาะเก้า ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร อัตราค่าบริการ ราคา 300 บาทต่อคน
รอบเกาะแปด และเกาะเก้า อัตราค่าบริการ ราคา 300 บาท/คน


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
มีพื้นที่กางเต็นท์บริเวณเรือนแถว ขนาด 2.5 ไร่ มีห้องน้ำ-ห้องสุขารวม และ พื้นที่กางเต็นท์บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติที่ มส.2 (เกาะแปด) มีพื้นที่ขนาด 6 ไร่ มีห้องน้ำ-ห้องสุขารวม
ท่าเรือ/ท่าเทียบเรือ
ท่าเทียบเรือ จำนวน 1 แห่ง บริเวณ บ้านทับละมุ (ท่าเทียบเรือทับละมุ)
แหล่งดำน้ำลึก จำนวน 10 จุด ได้แก่
คริสมาส พอยท์ ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 66 กิโลเมตร
อ่าวเรือจม (หินตาแก่) ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร
แฟนตาซี รีฟ ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 6.1 กิโลเมตร
อิเลฟเฟน ร๊อค (Elephant Rock) ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร
หินเบคอน ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร
หินสามก้อน ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 65.4 กิโลเมตร
หินคอนโด (East of Eden) ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร
หัวแหลม ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 65.7 กิโลเมตร
สวนปลาไหล ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64.1 กิโลเมตร
หินแพและสันฉลาม ระยะทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร
ที่มา http://www.moohin.com/066/066j010.shtml

เกาะสมุย




เกาะที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น สวยงาม มีเสน่ห์ เกาะสมุยมีหาดทรายขาว ทอดขนานไปกับทิวต้นมะพร้าวริมชายหาด น้ำทะเลใส ความสวยงามของหาดทรายมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างกันออกไป หาดเฉวงมีทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส เหมาะแก่การเล่นน้ำ หาดละไมมีอ่าวโค้งสวยงาม หาดตลิ่งงามเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดบนเกาะ ด้านทิศเหนือและใต้สุดของเกาะเหมาะสำหรับคนรักธรรมชาติ ในขณะที่บริเวณหาดเฉวง หาดละไม ทางฝั่งตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสีสัน และวัฒนธรรมเมืองแบบลูกครึ่งไทย - ยุโรป นอกจากธรรมชาติชายทะเลแล้ว ยังมีน้ำตกที่มีน้ำใสเย็นเกือบตลอดปี มีแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวพื้นถิ่น เช่น วัดสำเร็จ วัดละไม เจดีย์แหลมสอ เป็นต้น ในท้องทะเลรอบเกาะสมุยยังมีแนวปะการังอยู่ทั่วไป มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์อยู่ทางตอนใต้ของเกาะซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงของหมู่เกาะสมุย ไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเท่านั้นเกาะสมุยยังพร้อมไปด้วยที่พัก ร้านอาหาร บริการนำเที่ยว สถานบันเทิง และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

สถานที่ท่องเที่ยวในเกาะสมุย
หาดบ่อผุด อ่าวบ่อผุดอยู่ทางด้านเหนือของเกาะสมุย มีหาดตามความโค้งของอ่าวที่สวยงามและสงบ
หาดพระใหญ่ หาดพระใหญ่ และ หาดเชิงมน ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะ เป็นชายหาดแคบๆ
หาดละไม เป็นหาดที่มีชื่อเสียงด้วยความสวยงามของความโค้งของอ่าวและทิวมะพร้าวที่ทอดยาว
หาดเฉวง หาดเฉวงเป็นหาดที่มีหาดทรายสวยมาก สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นได้ที่หาดนี้
หินตาหินยาย หินตาหินยาย ตั้งอยู่ที่บริเวณหาดละไมบนเกาะสมุย เป็นพื้นที่สาธารณะ
อ่าวตลิ่งงาม ที่สุดของความงามจากธรรมชาติที่จัดวางอย่างลงตัวกับวิวพระอาทิตย์ตกที่หาดตลิ่งงาม

การเดินทางมายังเกาะสมุย
มีเรือโดยสารออกจากท่าเรือเทศบาลเมืองฯไปยังเกาะสมุย เวลาประมาณ 22.00 น.และเรือเฟอร์รี่ที่ออกจากท่าเรือทุกชั่วโมง สามารถซื้อตั๋วขึ้นรถได้จากอำเภอเมือง มาขึ้นเรือที่ท่าเรือดอนสัก หรือว่าจะมาขึ้นที่ท่าเรือเลยก็ได้ ทางเครื่องบิน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ จำกัด มีบริการเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-เกาะสมุย ทุกวัน
ที่มา http://samui.siamfreestyle.com/



อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์


อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อ พ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มอำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา" ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่) ดอยอ่างกา มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากยอดดอยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำแห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่าง ฝูงกาจำนวนมากมายมักพากันไปเล่นน้ำที่หนองน้ำแห่งนี้ จึงพากันเรียกว่า "อ่างกา" และภูเขาขนาดใหญ่แห่งนั้นก็เลยเรียกกันว่า "ดอยอ่างกา" แต่ก็มีบางกระแสกล่าวว่า คำว่า "อ่างกา" นั้น
แท้จริงแล้วมาจากภาษาปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) แปลว่า "ใหญ่" เพราะฉะนั้นคำว่า "ดอยอ่างกา" จึงแปลว่าดอยที่มีความใหญ่นั่นเอง ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูลบางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์" อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มีพื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6 ดังนี้ "เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดมีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยประกาศพระราชกฤษฎีกาด้วยบริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ"

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมา คือ ยอดดอยหัวหมดหลวง สูง 2,330 เมตร ยอดดอยหัวหมดน้อย สูง 1,900 เมตร ยอดดอยหัวเสือ สูง1,881 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ให้กำเนิดแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่หอย ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่เตี๊ยะ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายทางด้านระดับความสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลักษณะของสภาพอากาศแบบเขตร้อนในตอนล่างของพื้นที่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา มีสภาพอากาศแบบกึ่งเขตร้อนในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรขึ้นไปในพื้นที่สูงตอนบนของอุทยานแห่งชาติ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0-4 องศาเซลเซียส และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้น ที่ระดับกลางของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพอากาศโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างเย็นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตร/ต่อปี สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,800 เมตรขึ้นไป จะมีสภาพอากาศที่เย็นและชุ่มฉ่ำอยู่ ทั้งนี้เพราะจะเป็นระดับความสูงของเมฆหมอก ทำให้สภาป่ามีเมฆและหมอกปกคลุมเกือบตลอดปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าเต็งรัง พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ

ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น
ป่าดิบเขาตอนล่าง เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ดอยอิทนนท์จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ
ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น

สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว
ที่มา http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=1&lg=1

การเดินทางสู่ ดอยอินทนนท์
จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31
ที่มา http://www.ezytrip.com/travelsearch/district_attract2.php?chk=567